ศธ. ชู "จุฬาภรณราชวิทยาลัย" ต้นแบบมัธยมดี 4 มุมเมือง ย้ำปัญหาหลักที่ร้องเรียนคือ "หลักสูตร-พัฒนาการศึกษาไทย"
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน "10 ปี การพัฒนาต่อยอดโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตามอุดมการณ์” โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, H.E. Mr. NASHIDA Kazuya เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, H.E. Mr. Taha Macpherson เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย, นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ ห้อง Jupiter โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดี กรุงเทพมหานคร
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ สร้างเยาวชนที่มีคุณภาพให้ประเทศ ทั้งในเรื่องของความสำเร็จในการประเมินคุณภาพการศึกษานานาชาติ PISA, การเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ, ผลงานโครงการของนักเรียนที่จดอนุสิทธิบัตร เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จึงขอให้สานต่อการดำเนินงานและยกระดับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงเตรียมแนวทางการพัฒนาเด็กนักเรียนที่มีความเป็นเลิศ เพื่อให้เด็กเหล่านี้เข้ามีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในอนาคต
"โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สามารถเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่น ๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ หากเราสามารถนำต้นแบบนี้ไปพัฒนาสถานศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ หรือสนับสนุนให้สถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศ ดูแลและให้ความช่วยเหลือ
รวมทั้งแบ่งปันทรัพยากรด้านการศึกษา ตลอดจนสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนต่าง ๆ ร่วมกันกับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง ก็จะส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่นั้น มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ ขอขอบคุณหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาการศึกษา สร้างเยาวชนที่มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำที่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู สนับสนุนให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งทักษะด้านวิชาการ ดนตรี และกีฬา ส่งผลให้เด็กมีความสามารถรอบด้าน และมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันด้านต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการกระตุ้นและทำให้เด็กเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ นอกจากนี้ นักเรียนได้นำปัญหาของท้องถิ่นมาทำการวิจัย และช่วยแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่ จึงเป็นการต่อยอดการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในทุกด้าน
ซึ่งเด็กไทยมีความรู้ความสามารถ รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับสากล โดยกระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางที่จะขยายผลความร่วมมือระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ผ่านโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อสร้างพื้นฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ
นอกจากนี้ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ยังเป็นต้นแบบด้านพื้นฐานบริหารจัดการเกี่ยวกับโรงเรียนประจำในบริบทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่านั้น รวมถึงการเป็นต้นแบบของการสร้างระเบียบวินัย
“งานในวันนี้ คือความสำเร็จด้านการศึกษาซึ่งใช้เวลา โดยเฉพาะในการศึกษาที่มีความเข้มข้นในเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่ได้รับการวางแผนมาและต่อยอดมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาการศึกษาเข้มข้นที่โดเด่นด้านวิทยาศาสตร์
สำหรับการต่อยอดให้มีโรงเรียนแบบจุฬาภรณราชวิทยาลัย ถือว่ามีความจำเป็น เพราะสิ่งที่พบเห็นว่า การมีโรงเรียนในรูปแบบดังกล่าว ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง มีนักเรียนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากมาจากในจังหวัดนั้น ๆ ทำให้เห็นว่าการเดินทางเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นโรงเรียนประจำก็ตาม
ดังนั้นทางรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ สามารถที่จะจัดสรรงบประมาณได้ เราก็จะขยายผลจากตรงนี้ เพราะเราเห็นต้นแบบโรงเรียนนี้มาแล้ว 10 ปี และเราสามารถเห็นจุดอ่อนจุดแข็ง ในการที่เราจะสร้างโรงเรียนต้นแบบทั้งด้านวิชาการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้นแบบการสร้างระเบียบวินัย ในโรงเรียนที่อาจจะเป็นโรงเรียนหลักในอนาคต เช่น โรงเรียนมัธยมดี 4 มุมเมือง และการจัดระเบียบต่าง ๆ
“เป็นแนวทางที่เราสามารถนำไปใช้ได้ เห็นงบประมาณที่ชัดเจน และการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เช่นห้องเรียนต่างๆ ที่เราเห็นในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้ว เราสามารถนำมาขยายผลให้เป็นห้องเรียนสำหรับโรงเรียนมัธยมดี 4 มุมเมืองที่มีคุณภาพได้ จริงๆ แล้วทั่วประเทศการจัดสรรงบประมาณถือเป็นเรื่องสำคัญ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังกล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องทรงผมของนักเรียนด้วยว่า ได้สั่งการให้แก้ไขปัญหาทันทีในเรื่องดังกล่าวไปแล้ว ตั้งแต่วันที่น้อง ๆ มาเรียกร้อง โดยตนเองได้สั่งยกเลิกข้อ 7 ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจโรงเรียนในการตัดสินใจว่าควรทำอย่างไรกับทรงผม ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากนั้นก็ได้ทำการจัดตั้งคณะทำงานขึ้น
"โดยเมื่อมีข้อเสนอมาที่ผมและทีมงาน ที่ผ่านมาผมก็นำข้อเสนอเหล่านั้น มาดูกับฝ่ายปฏิบัติ มาดูเรื่องของทางโรงเรียน และทางคุณครู ว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ มีปัญหาอะไรบ้าง หรือมีข้อกังวลอะไรหรือไม่"
นอกจากนี้กลุ่มที่มีความกังวลเกี่ยวกับการศึกษา เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของนักเรียน นายณัฏฐพล ย้ำว่า คือความกังวลเรื่องหลักสูตรการศึกษา การพัฒนาการศึกษา และอนาคตการศึกษาไทย
"ผมอยากให้ทั้งนักเรียน และผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญในเรื่องของการศึกษา ว่า การจะพัฒนาการศึกษาให้ได้ดี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทรงผม หรือเรื่องชุดนักเรียน เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เรื่องหลักๆ จะเป็นเรื่องหลักสูตร และการพัฒนาการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องอย่างเข้มข้น และเราก็จะทำกันต่อไป"