วันนี้ ต้องจับตา 23 โรงเรียนดังทั่วประเทศนัดแต่งชุดไพรเวตไปโรงเรียน เพื่อแสดงออกถึงเสรีภาพในการแต่งตัว ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ห้ามนักเรียนแต่งชุดไพรเวต แต่ยืนยัน ผิดระเบียบโรงเรียน ฝากครูพูดคุยถามสาเหตุ และเจตนาของเด็กก่อน
หลังจากก่อนหน้านี้ กลุ่มนักเรียนเลว และ ภาคีนักเรียน KKC ได้นัดกันแต่งกายในชุดไพรเวตไปโรงเรียนและแต่งกายตามเพศวิถี ในวันนี้ ( 1 ธันวาคม 63) ซึ่งมีรายชื่อโรงเรียนจำนวน 23 แห่ง ทั้งในกทม. และต่างจังหวัด ที่เด็กนักเรียนจะเข้าร่วมกิจกรรมนี้
อาทิ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนกัลยาณวัตร, โรงเรียนสุรนารีวิทยา, โรงเรียนสารวิทยา, โรงเรียนหอวัง, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ, โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน, โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, โรงเรียนสตรีวิทยา, โรงเรียนบดินทรเดชา สิงห์ สิงหเสนี
ล่าสุด ทวิตเตอร์ กลุ่มนักเรียนเลว ได้โพสต์ภาพป้ายขึงอยู่บนสะพานลอย ถนนพญาไท ใกล้โรงเรียนเตรียมอุมศึกษา ซึ่งป้ายเขียนข้อความว่า "เราต้องการเสรีภาพในการแต่งตัว" #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ #จะแต่งอะไรมันก็เรื่องของกู #นักเรียนเลว"
นอกจากนี้ยังมีป้ายติดอีกหลายสถานที่ เช่น สี่แยกอุรุพงษ์ และประตูน้ำ ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ" ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับคู่มือการปฏิบัติตัวของนักเรียนที่จะแต่งชุดไพรเวต เช่นถ้าโรงเรียนไม่ให้เข้า ให้ใส่ชุดนักเรียนทับชุดไปรเวท หรือ ใส่ชุดนักเรียนมาแล้วเปลี่ยนชุดทีหลัง หรือกรณีมีครูมาโวยวายตัดคะแนน ขอให้ถ่ายรูป อัดเสียง หรือถ่ายคลิปไว้ และครูจะตัดคะแนนความประพฤติไม่ได้ เนื่องจากการใส่ชุดไพรเวต ไม่ได้ขัดกับระเบียบข้อใดของโรงเรียน ส่วนกระเป๋าที่ไม่ใช่ของโรงเรียน ครูจะยึดไม่ได้มิฉะนั้นจะมีความผิดฐายยักยอกทรัพย์
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) บอกว่า หากในวันที่ 1 ธันวาคม มีนักเรียนที่ไม่ใส่เครื่องแบบและใส่ชุดไพรเวตไปโรงเรียน คงไม่สามารถห้ามนักเรียนให้เข้าเรียนได้ ต้องให้เด็กเข้าเรียนตามปกติ แต่ครูต้องสอบถามสาเหตุของนักเรียนด้วยว่าทำไมจึงไม่ใส่เครื่องแบบ โดยดูก่อนว่า เกิดจากเหตุจำเป็นหรือเจตนาที่จะไม่ใส่ หากนักเรียนเจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎ ก็มีระเบียบที่เกี่ยวกับบทลงโทษกำหนดไว้แล้ว แต่คุณครูจะไปลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุไม่ได้เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ต้องเข้าใจว่าตอนนี้ทั้งครูและนักเรียนต่างมีกฎหมายคุ้มครองเหมือนกัน ทุกคนต้องทำตามกฎกติกา ไม่ใช่ว่าครูจะทำอะไรก็ได้ หรือนักเรียนจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมืองเหมือนกัน
นายอัมพร บอกว่า เจตนารมณ์ของกฎระเบียบเกี่ยวกับการแต่งชุดเครื่องแบบนักเรียน ไม่ได้ต้องการจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของนักเรียน แต่มองในเรื่องของความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะเมื่อใส่ชุดนักเรียนก็จะมีความแตกต่างจากบุคคลทั่วไป หากเกิดอันตรายขึ้น เครื่องแบบนักเรียนจะสามารถระบุได้ว่ามาจากโรงเรียนไหน ระดับชั้นอะไร อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างระเบียบวินัยผ่านเครื่องแต่งกาย ให้เด็กมีความรับผิดชอบแต่งกายให้ถูกระเบียบตามกฎกติกา เป็นการเริ่มต้นสร้างวินัยให้คนในชาติ
ขณะที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า เรื่องเครื่องแบบนักเรียน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการศึกษา ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่ว่าน้องๆ จะเป็นใคร มาจากครอบครัวไหน หรือมีฐานะอย่างไร ก็จะอยู่ในกรอบกฎกติกาและบริบทของโรงเรียนนั้นๆ อย่างเท่าเทียมกัน เครื่องแบบนักเรียนถือเป็นเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมกับนักเรียน เหมือนเครื่องแบบของคุณหมอ ที่มีเสื้อกาวน์ ซึ่งเป็นการบ่งบอกอาชีพ ถือว่า เป็นเครื่องแบบที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคคลที่สวมใส่
นอกจากนี้ ยังมีผลโพลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองทั่วประเทศทางออนไลน์ ยืนยันว่า 61% ยังต้องการให้มีชุดยูนิฟอร์มของเด็กนักเรียน และมีผู้ปกครองถึง 47% คิดว่า หากให้ใส่ชุดอะไรก็ได้ไปโรงเรียน จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และสร้างความกดดันให้กับผู้ปกครองในการใช้จ่ายเพื่อซื้อเสื้อผ้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีถึง 75% ที่คิดว่าจะทำให้เกิดการ Bully เกี่ยวกับการแต่งกายที่เพิ่มขึ้น
นายณัฎฐพล ยืนยันว่า พร้อมฟังเสียงเรียกร้องจากน้องๆ ทุกเรื่อง แต่ก็ต้องฟังเสียงจากทุกๆ ฝ่ายด้วย เรื่องไหนที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางการศึกษา ก็ดำเนินการทันทีทุกเรื่องตามความเหมาะสม