ปภ. รายงานสถานการณ์น้ำท่วม 7 จังหวัดภาคใต้ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยเต็มกำลัง
(3 ธ.ค. 2563) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย
โดยตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน – ปัจจุบัน (3 ธันวาคม 2563 เวลา 06.00 น.) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย รวม 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 70 อำเภอ 358 ตำบล 2,318 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 261,253 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย แยกเป็น พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 70 อำเภอ 355 ตำบล 2,299 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 261,122 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 รายในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมใน 7 จังหวัด 62 อำเภอ 323 ตำบล 2,186 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 255,162 ครัวเรือน ดังนี้
1.สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอวิภาวดี อำเภอท่าฉาง อำเภอบ้านนาเดิม รวม 21 ตำบล 120 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,449 ครัวเรือน
2.นครศรีธรรมราช น้ำท่วมขังในพื้นที่ 19 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอพระพรหม อำเภอท่าศาลา อำเภอทุ่งสง อำเภอพิปูน อำเภอนาบอน อำเภอลานสกา อำเภอสิชล อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอขนอม อำเภอนบพิตำ อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอฉวาง อำเภอพรหมคีรี รวม 133 ตำบล 942 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 184,750 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นและยังมีฝนตกในพื้นที่
3.พัทลุง น้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอป่าบอน อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน อำเภอป่าพะยอม อำเภอบางแก้ว และอำเภอศรีบรรพต รวม 65 ตำบล 655 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,658 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงและยังมีฝนตกในพื้นที่
4.ตรัง น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอนาโยง อำเภอห้วยยอด อำเภอรัษฎา รวม 15 ตำบล 56 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,635 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นและยังมีฝนตกในพื้นที่
5.สงขลา น้ำท่วมขังในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอจะนะ อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอควนเนียง อำเภอสิงหนคร อำเภอนาหม่อม อำเภอรัตภูมิ อำเภอบางกล่ำ อำเภอสทิงพระ อำเภอระโนดอำเภอกระแสสินธุ์ รวม 54 ตำบล 317 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,570 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงและยังมีฝนตกในพื้นที่
6.ปัตตานี น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอยะหริ่ง อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอมายอ อำเภอปะนาเระ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอหนองจิกรวม 24 ตำบล 79 หมูบ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,687 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงและยังมีฝนตกเล็กน้อยในพื้นที่
7.นราธิวาส น้ำท่วมขังในอำเภอสุไหงโก – ลก รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 223 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงและไม่มีฝนตกในพื้นที่
พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 1 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช รวม 3 อำเภอ 11 ตำบล 51 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 131 หลัง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ รถบรรทุกติดตั้งเครน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถไฟฟ้าส่องสว่างให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่สูงและเร่งระบายน้ำท่วมขัง รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค
อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป