ดาวเต็มฟ้า! สดร. เผยภาพ "ฝนดาวตกเจมินิดส์" คืน 13 เช้า 14 ธ.ค. 63 พร้อมบอกเทคนิคการดูดาวเบื้องต้น

(14 ธ.ค. 2563) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยภาพ "ฝนดาวตกเจมินิดส์" เหนืออ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ คืนวันที่ 13 ถึงรุ่งเช้า 14 ธันวาคม 2563 บันทึกในช่วงเวลาประมาณ 21:00 - 02:30 น. นับเป็นฝนดาวตกส่งท้ายปีนี้ อัตราการตกเฉลี่ยสูงสุดเป็นไปตามคาด มากถึงประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง สามารถสังเกตเห็นดาวตกที่เป็นลูกไฟ (Fireball) และดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) เป็นแนวยาวพาดผ่านท้องฟ้า

"ฝนดาวตกเจมินิดส์" เกิดจากการที่โลกโคจรเข้าตัดกับสายธารเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่ทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Fireball) มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4 - 17 ธันวาคม ของทุกปี และจะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงวันที่ 13 - 14 ธันวาคม เฉลี่ยประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง

สำหรับการดูดาวนั้น สดร. อธิบายไว้ว่า การดูดาวเป็นการศึกษาดาราศาสตร์เบื้องต้นอย่างหนึ่ง คําว่า ดาราศาสตร์ แปลตามศัพท์ได้ดังนี้

“ดารา หมายถึงดาว” ส่วนคําว่า “ศาสตร์ หมายถึง ความรู้” เมื่อนําคําทั้งสองมารวมกันให้ความหมายว่า
วิชาที่ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับดาว ความจริงวิชาดาราศาสตร์มีความหมายกว้างขวางกว่านี้มาก

วิชาดาราศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ เช่น ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ อุกกาบาต ดาวหาง เนบิวลา กาแล็กซี (ดาราจักร) สิ่งมีชีวิตนอกโลก รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

การแบ่งดาวบนท้องฟ้าออกเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่ากลุ่มดาว (Constellation) นั้นปัจจุบันนักดาราศาสตร์แบ่งกลุ่มดาวต่าง ๆ นี้นับรวมทั้งท้องฟ้าซีกเหนือ และซีกใต้ ออกเป็นทั้งหมด 88 กลุ่ม ซึ่งการบอกตําแหน่งของกลุ่มดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้านั้นจําเป็นต้องมีระบบเพื่อใช้ระบุถึงตําแหน่งที่อยู่ของดาวฤกษ์ เมื่อเริ่มต้นดูดาวนั้นเราจะต้องรู้จักตําแหน่งของทิศทั้ง 4 ทิศก่อน จากตําแหน่งของผู้สังเกต

สําหรับผู้ที่ต้องการดูเริ่มดาว ในเบื้องต้นมีสิ่งแรกที่ต้องรู้คือ การหาทิศเพื่ออ้างอิงจุดสังเกตท้องฟ้า ณ ตําแหน่งที่ผู้สังเกตอยู่ (สถานที่ดูดาว) หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่ที่จริงแล้วเราสามารถใช้เทคนิคการสังเกตธรรมชาติ เช่น การดูเงาของวัตถุหรือกลุ่มดูดาวบนท้องฟ้าเป็นหลัก จากเทคนิคเหล่านี้เราจะสามารถประมาณทิศได้ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยกับ “ทิศเหนือ” ซึ่งหนึ่งในทิศหลักทั้งสี่

และหลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าการดาวดูทําไมต้องใช้ทิศเหนือ ลองดูว่าถ้าหากเราแบ่งโลกออกเป็น 2 ส่วน ในแนวละติจูดดังนั้นเราจะสามารถแบ่งโลกออกเป็นซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ประเทศไทยของเราตั้งอยู่บนพิกัดทางภูมิศาสตร์ระหว่าง 6 – 20 องศาเหนือ ดังนั้นเราจึงใช้ “ทิศเหนือ” เป็นหลัก แต่ถ้าหากผู้สังเกตย้ายไปประเทศออสเตรเลียซึ่งอยู่ทางซีกโลกใต้ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ “ทิศใต้” เป็นหลัก แต่ตอนนี้ให้กลับมาที่ ทิศเหนือ ของเราก่อน