สำนักศิลปากรราชบุรีเผย ต้องรอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบพระที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระทองคำ ที่ถูกปูนหุ้มหลอกตาทัพพม่าอีกรอบ แต่เบื้องต้น พบว่า ไม่ใช่ฝีมือช่างหลวง
การตรวจสอบพระพุทธรูปเก่า ที่วัดจอมปราสาท อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่มีเรื่องเล่าว่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทำสงครามกับพม่า ที่ค่ายบางแก้ว เมืองราชบุรี ปี 2317 และชาวบ้านได้นำปูนมาโบกทับพระทองคำองค์นี้ เพื่อตบตาทัพพม่า ก่อนนำข้ามแม่น้ำมาไว้ที่วัดจอมปราสาทนี้ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน มาถึงปัจจุบัน
ล่าสุด นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรีและเจ้าหน้าที่ด้านโบราณสถาน ได้ลงตรวจสอบ เบื้องต้นระบุว่า ในด้านพุทธศิลป์ พบว่าบริเวณแขนซ้ายที่มีรอยแตกหัก มีคราบสนิมเขียว คาดว่า อาจมีส่วนประกอบของสัมฤทธิ์ แต่จะใช่หรือไม่ และด้านในเป็นทองคำหรือไม่ ต้องรอผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบอย่างละเอียด
แต่จากลักษณะเชื่อว่า ผู้ปั้นไม่ใช่ช่างหลวง น่าจะเป็นชาวบ้าน เพราะบริเวณเศียรพระ ไม่ใช่ลักษณะก้นหอย แต่ปั้นเป็นเม็ดกลมธรรมดา ส่วนฐานพระเป็นลักษณะการปั้นปูนพอกสมัยใหม่ เพราะของเก่าจะใช้ทรายแดง อาจสร้างในช่วงปลายอยุธยา ต้นรัตนโกสินธ์ แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่า มีอายุกี่ปี
ขณะนี้ ได้ให้วัดทำหนังสือแจ้งมายังเขต เพื่อประสานผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรมาตจรวจสอบแล้ว
ในส่วนข้อถกเถียงว่า วัดสร้างขึ้นเมื่อไหร่ ทางเจ้าอาวาสได้นำหนังสือที่ออกโดยจังหวัดราชบุรีระบุว่า วัดก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2314 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา สร้างพระอุโบสถ ในปีเดียวกัน โดยรับรอง ณ 1 พฤศจิกายน 2554