รัฐบาลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-อินเทอร์เน็ต เตรียมเปิด "คนละครึ่ง" 1 ล้านสิทธิ์

(12 ม.ค. 2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติให้ดำเนินการมาตรการเยียวยาประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม จำนวน 3,500 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน

และยังมีการหารือมาตรการช่วยลดผลกระทบของประชาชนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ดังนี้
อินเทอร์เน็ต
- เพิ่มความเร็วและแรงของอินเทอร์เน็ตบ้าน มือถือ และลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นการสนับสนุนการ Work From Home และโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ฟรีเป็นเวลา 3 เดือน

ค่าไฟฟ้า
- ลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 2 เดือน ก.พ. - มี.ค. 2564 โดยบ้านทั่วไปใช้ที่ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ใช้ฟรี 90 หน่วย หากเกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้ลดตามเงื่อนไข ส่วนกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้ใช้ฟรี 50 หน่วยแรก

ค่าน้ำ
- ลดค่าน้ำประปาจำนวน 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ตามใบแจ้งหนี้ในเดือน ก.พ. - มี.ค. 2564

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้ลงทะเบียนในโครงการ "คนละครึ่ง" จำนวน 1 ล้านสิทธิ์ ในช่วงปลายเดือนนี้

ส่วนเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ปัจจุบันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง ของธนาคารของรัฐยังมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณกว่า 2 แสนล้าน โดยให้กระทรวงการคลัง ประสานธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยเหลือในเรื่องหนี้สินและการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการและประชาชนโดยเร็ว เช่น สินเชื่อธนาคารออมสิน 10,000-15,000 บาทต่อราย อัตตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1-0.35 ต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ อาจจะไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็บรรเทาความเดือดร้อนไปได้ระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม เช่น การลดหย่อนเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน การเยียวยากรณีว่างงานให้ผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษารวมถึงค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องสำรองเงินไปก่อน เพราะมาตรการส่งเสริมการจ้างงานรักษาระดับการจ้างงานโดยมอบหมายกระทรวงแรงงานไปแล้ว และการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยต้องเร่งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงพิจารณามาตรการดูแลแรงงานนอกระบบประกันสังคมด้วย