ป.ป.ส. เผยผลตรวจ "ยาเคนมผง" จากคดีสาวลอบขายในเขตสายไหม พบคีตามีนผสมไดอาซีแพม ส่วนจะเกี่ยวข้องกับคดีอื่น ๆ หรือไม่ต้องรอตรวจสอบ
(12 ม.ค. 2564) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า จากกรณีชุดปราบปรามยาเสพติดตำรวจนครบาล 2 เข้าจับกุม นางสาวศิริกาญจน์ หรือ นุ่น เชื้อเขตกรรม อายุ 23 ปี พร้อมของกลางซึ่งเป็นยาตัวใหม่ที่เรียกว่า “เคนมผง” น้ำหนักประมาณ 7.35 กรัม ได้ภายในบ้านพักหลังหนึ่ง ในชุมชนนิตภาวรรณ 1 แยก 4 เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ก่อนที่ในช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานส่งวัตถุของกลางดังกล่าวเข้าตรวจพิสูจน์ที่สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. น้ำหนักรวม 5.314 กรัม โดยลักษณะเป็นผงสีขาว บรรจุมาในซองซิปพลาสติก จำนวนทั้งสิ้น 6 ซองนั้น
สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ตรวจพิสูจน์วัตถุของกลางดังกล่าวจนแล้วเสร็จ ซึ่งผลปรากฏว่าของกลางที่เรียกว่า “เคนมผง” ดังกล่าว มีส่วนผสมของคีตามีนและไดอาซีแพม (Diazepam) หรือยาที่ทั่วไปรู้จักกันในทางการค้าว่า แวเลียม (Valium) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 โดยออกฤทธิ์ที่สมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง ในทางการแพทย์ใช้เป็นยากล่อมประสาทหรือสงบประสาท ทำให้จิตใจสงบ ใช้สำหรับรักษาอาการผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แก้อาการชัก เป็นต้น
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่า ผลข้างเคียงจากการใช้ไดอาซีแพมนั้น อาจทำให้มีอาการง่วงซึม เหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายสูญเสียความสมดุล ลมหายใจอ่อนแรง มึนงง เห็นภาพหลอน ซึมเศร้า กล้ามเนื้อกระตุก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รวมถึงเกิดอาการชักได้ โดยความผิดในฐานผู้ขาย ต้องระวางโทษจำคุก 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,000,000 บาท และความผิดฐานครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ยาเค หรือ คีตามีน (Ketamine) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ใช้เป็นยาสลบก่อนทำการผ่าตัด สามารถระงับปวด ช่วยขยายหลอดลม ต่อต้านอาการซึมเศร้าได้
ทั้งนี้ ในระยะหลังพบว่า มีการนำคีตามีนมาใช้ในทางที่ผิด โดยใช้เพื่อความบันเทิงร่วมกับยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น เช่น ยาอี และโคเคน ผู้เสพจะรู้สึกมึนงง ความคิดสับสน ตาลาย หูแว่ว การรับรู้และการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาจเกิดอาการประสาทหลอน การเสพในระยะเวลานาน จะทำให้ผู้เสพประสบกับสภาวะโรคจิต และกลายเป็นคนวิกลจริตได้ โดยความผิดในฐานผู้เสพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานผู้ขาย ต้องระวางโทษจำคุก 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 - 2,000,000 บาท และความผิดฐานครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“สำหรับความเชื่อมโยงของยาเคนมผง ที่พบในหลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครนั้น คงต้องดูผลการตรวจพิสูจน์จากของกลางที่พบในคดีอื่นว่าเป็นสารชนิดเดียวกันหรือไม่ รวมถึงอาศัยข้อมูลการสืบสวนสอบสวนขยายผลจับกุมของเจ้าหน้าที่ว่าในแต่ละคดีมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าใด ๆ เพิ่มเติม สำนักงาน ป.ป.ส. จะเร่งแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบต่อไป” นายวิชัย ไชยมงคลเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้าย