โฆษก กอ.รมน. ยัน ไม่ฟ้องกลับคนตรวจสอบโครงการโซลาร์เซลล์ ชี้ 45 ล้าน ไม่แพง เพราะมีค่าทั้งขนส่ง-ติดตั้ง-จัดเก็บแบตเตอรี่ พร้อมให้ตรวจสอบ
(15 ม.ค. 2564) พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ชี้แจงกรณีจัดทำโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่าโครงการดังกล่าวมีงบประมาณ 45 ล้านบาท
โดยขอรับการสนับสนุนงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปี 2562 เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 215 กิโลวัตต์ พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเธียม) ขนาดความจุ 998 กิโลวัตต์-ชั่วโมง พร้อมติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนระยะทาง 5,409 เมตร และติดตั้งเสาไฟฟ้าแสงสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 120 ชุด และโรงคลุมแบตเตอรี่ ในพื้นที่ อ.อมก๋อย 5 แห่ง ได้แก่
1.หมู่บ้านพะอัน ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 30.72 กิโลวัตต์
2.หมู่บ้านจกปก ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 51.20 กิโลวัตต์
3.หมู่บ้านห้วยไก่ป่า ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 51.20 กิโลวัตต์
4.หมู่บ้านมูเซอหลังเมือง ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 51.20 กิโลวัตต์
5.ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 30.72 กิโลวัตต์
ทั้งนี้ ในปี 2561 ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคง พื้นที่ อ.อมก๋อย ได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชนเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ทำการประชุมประชาคมของประชาชนทั้ง 4 หมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ของ 3 อบต. ได้แก่ อบต.สบโขง อบต.แม่ตื่น และ อบต.ม่อนจอง โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ติดตั้งระบบฯ ทาง กอ.รมน.ภาค 3 จึงได้เสนอโครงการฯ เข้ารับการสนับสนุนงบประมาณในกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2562
โดยการจัดซื้อจัดจ้างได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยกำหนดราคากลางของโครงการตามบัญชีราคามาตรฐานของกรมบัญชีกลาง และการสืบราคาจากท้องตลาด โดยใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วไปยื่นข้อเสนอ ที่ผ่านมามีผู้สนใจยื่นรับเอกสารผ่านระบบฯ 4 ราย และมีผู้ยื่นเสนอราคา 3 ราย เมื่อตรวจสอบเอกสารตามเงื่อนไขปรากฏว่า มีผู้ยื่นเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วน 2 ราย คือ บ.ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บ.บี.เอ็น.โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด ส่วนกิจการร่วมค้า เอ็ม เอ็ม ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดยื่นเอกสารไม่ถูกต้อง และไม่ครบถ้วน 11 รายการ ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นสาระสำคัญต่อผลสำเร็จของโครงการ จึงไม่ผ่านการคัดเลือก
สำหรับ บ.บี.เอ็น.โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด ที่เป็นผู้ชนะการประกวดราคา (45 ล้านบาท) จดทะเบียนตั้งบริษัทในปี 2557 เพื่อประกอบกิจการด้านพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน ประกอบกับมีผลงานการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานวงเงินไม่น้อยกว่า 12 ล้านบาทตามเงื่อนไข
สำหรับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีเป้าหมายหลักคือพื้นที่สาธารณะประโยชน์ และพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ได้แก่ อาคารเรียน ศาลาประชาคมประจำพื้นที่ และเสาไฟส่องสว่างตามเส้นทางภายในหมู่บ้าน ส่วนโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนที่ให้ประชาชนใช้งานภายในบ้านจะดำเนินการต่อไป
ที่ผ่านมา กอ.รมน. ได้ตรวจรับงานแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2563 ระบบสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมจัดทำบัญชีคุมอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการโอนและส่งมอบระบบให้ทั้ง 3 อบต. ใช้งาน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 คาดว่า อบต. รับแล้ว แต่ต้องไปขอประชุมสภา อบต. ก่อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตอนนี้จึงยังตอบรับเป็นทางการไม่ได้
ส่วนกรณีมีการโจมตีทางโซเชียลมีเดีย โฆษก กอ.รมน. ยืนยันว่าจะไม่ฟ้องกลับ พร้อมชื่นชมว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เกิดการตรวจสอบการใช้งบหลวง ทำให้ กอ.รมน. มีโอกาสชี้แจงให้เข้าใจ ส่วนที่โครงการนี้มีราคาแพง เพราะมีอุปกรณ์ส่วนควบ การลากสายไฟฟ้าไปบ้านเรือนต่าง ๆ รวมถึงเสาไฟฟ้าในพื้นที่เป็นพื้นที่ราบสูง
สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทหน้าที่ กอ.รมน. ว่า อาจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นและเห็นว่าควรยุบหน่วยงานนี้นั้น พล.ต.ธนาธิป ยืนยันว่า กอ.รมน. มีบทบาทและความสำคัญในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน. เพราะการอยู่ดีมีสุข เป็นเรื่องของความมั่นคง
ส่วนกรณีที่มีบริษัทที่ได้งานนามสกุลเดียวกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย จะเป็นสาเหตุทำให้ราคาแพงหรือไม่นั้น โฆษก กอ.รมน. ยืนยันว่าการประมูลใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นใครจะเข้ามาก็ได้ ไม่จำกัดว่านามสกุลอะไร ถ้าข้อกำหนดตรงตามสเปค
ส่วนกรณี โครงการที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ใช้งานไม่ได้นั้น พล.ต.ธนาธิป เปิดเผยว่า อาจจะเป็นเพียงบางส่วน คงไม่ใช่ 20 จุด และอยากให้มีการลงไปตรวจสอบถึงระดับพื้นที่ในแต่ละหมู่บ้านว่าชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ การใช้งานในภาพรวมคงต้องใช้ไปก่อน ถึงจะรู้ว่าต้องปรับปรุงส่วนใดหรือไม่ แต่ยืนยันว่า การดำเนินงานมีประกันอยู่แล้ว
ส่วนพื้นที่หมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย ที่ตกเป็นข่าวนั้น พล.ต.ธนาธิป ย้ำว่าไม่ได้อยู่ในโครงการ แต่มีแผนที่เข้าไปดำเนินการในอนาคต พร้อมมองว่าการลงพื้นที่ของ "พิมรี่พาย" เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำร่องช่วยเหลือสังคม