"ต่อพงษ์" ชี้ ทางออกปัญหาเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน คือการยกประโยชน์ให้ชาวบ้าน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องโดยสุจริต
(28 ม.ค. 2564) นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมาชิกกลุ่มสร้างไทย กล่าวถึงกรณีกรมบัญชีกลาง เรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหลายคนในหลายจังหวัด โดยอ้างว่าซ้ำซ้อนกับสิทธิ์การรับเงินบำนาญพิเศษ จนลูกหลานบางคนถึงขนาดจะขอติดคุกแทนเพราะไม่มีเงินคืน ว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นความบกพร่องโดยสุจริตที่คงไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ภาครัฐจะต้องเป็นฝ่ายแก้ปัญหา ไม่ใช่ผลักภาระไปให้ผู้สูงอายุหรือญาติ ๆ เป็นฝ่ายหาเงินมาชดใช้
เนื่องจากที่มาของปัญหาคือการไม่เชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมบัญชีกลาง ในฐานะผู้จ่ายเงินกับหน่วยงานที่ให้สิทธิ์รับเงินบำนาญ ขณะที่ชาวบ้านผู้สูงอายุย่อมไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าตัวเองมีสิทธิ์ก็ไปแสดงตนและกรอกเอกสารตามระเบียบ โดยที่ไม่รู้หรอกว่าตัวเองมีข้อจำกัดในการรับสิทธิ์เรื่องใดบ้าง ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องก็ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานอื่นเพราะไม่มีระบบเชื่อมโยงกัน จึงเป็นที่มาของเรื่องทั้งหมด
ดังนั้นทางแก้คือเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องบังคับใช้กฎหมายในแนวทางที่เป็นประโยชน์กับผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งก็คือยกประโยชน์ให้กับผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพไปก่อนหน้านี้ เพราะไม่ได้มีเจตนาจะกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลกับทางราชการตั้งแต่ต้น หากจะถือเป็นความบกพร่องก็เป็นความบกพร่องโดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาทุจริตหรือฉ้อโกงแต่อย่างใด
แต่หากจะถามว่าฝ่ายใดควรรับผิดชอบ ก็ต้องบอกว่า เป็นฝ่ายทางราชการที่ต้องตรวจสอบสิทธิ์ในการรับเงินของผู้สูงอายุแต่ละคนว่ามีระเบียบหรือข้อกฎหมายใดที่ให้สิทธิ์ไว้บ้างและระเบียบดังกล่าวมีเงื่อนไขการบังคับใช้อย่างไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ฝ่ายชาวบ้านจะเป็นผู้ตรวจสอบกฎระเบียบต่าง ๆ ดังนั้นจึงถือว่าคุณยายที่ตกเป็นข่าวรับเงินมาระเบียบต่าง ๆ ดังนั้นจึงถือว่าคุณยายที่ตกเป็นข่าวรับเงินมา โดยสุจริต ทางกรมบัญชีกลาง ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าคุณยาย นั้นมีความผิดจริงหรือไม่ ถ้าหากไม่คุณยายควรจะได้รับสิทธิ์ทั้งสอง โดยถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นธรรม
ส่วนการที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนอ้างว่า เพิ่งจะมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เพิ่งมาทราบในภายหลังนั้น จะนำมาเป็นเหตุผลในการโยนความผิดให้ชาวบ้านไม่ได้ เพราะถือเป็นความบกพร่องของหน่วยงานราชการเอง จึงถือเป็นกรณีศึกษาที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ไขให้หน่วยงานราชการทำงานแบบบูรณาการกัน ไม่ใช่ปล่อยให้กลไกราชการใช้ดุลพินิจกันเอาเอง เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างการบริหาร ไม่ใช่เรื่องการใช้ดุลพินิจของตัวบุคคล