สรรพสามิต ชี้แจงข้อกฎหมายหลังสมาคมคราฟท์เบียร์ขอจำหน่ายในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก ชี้ ผ่อนปรนไม่ได้ เพราะอาจทำให้คุณภาพเบียร์เปลี่ยนแปลง
(2 ก.พ. 2564) นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมรวมตัวที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพสามิต 2 ประเด็น ดังนี้
1.ขอให้ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกลับไปบริโภคที่บ้าน
กรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 157 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงภาชนะสุราเพื่อการค้า เว้นแต่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตสุราหรือเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 เฉพาะกรณีผู้ซื้อได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราเพื่อดื่มในขณะนั้น"
วัตถุประสงค์ของบทบัญญัติมาตรานี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถ บริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐานปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งถ้าหากให้ร้านค้าสามารถเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุได้อย่างอิสระนอกโรงอุตสาหกรรมซึ่งอาจมิได้มีการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพระหว่างการเปลี่ยนแปลงภาชนะเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค อาจทำให้เบียร์สดดังกล่าวเกิดปัญหาการปนเปื้อนรวมถึงคุณภาพ ของเบียร์สดอาจจะเปลี่ยนแปลงไประหว่างการเปลี่ยนแปลงภาชนะ ดังนั้นการอนุญาตให้ร้านค้าสามารถเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุเบียร์สดได้อย่างอิสระอาจจะส่งผลต่อผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน