แรงงานข้ามชาติ-เครือข่ายแรงงานรวมตัวหน้ารัฐสภา เรียกร้องรัฐบาลเยียวยา 5,000 บาท อย่างถ้วนหน้า

(3 ก.พ. 2564) เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อทวงถามและเรียกร้องให้จ่ายเงินเยียวยาประชาชน 5,000 บาทแบบถ้วนหน้า เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่ได้เคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาแล้วเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) ไม่ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา ทั้งที่มีแรงงานในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 มากถึง 11 ล้านคน ที่อยู่ในภาวะเสี่ยง จะถูกเลิกจ้างออกจากงาน แต่กลับไม่เคยได้รับการเยียวยา

นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังทำให้ลูกจ้างเสียรายได้จากการถูกลดวันทำงาน ลดค่าจ้างนอกเวลา เป็นเวลาหลายเดือน เช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกนายจ้างเอาเปรียบ ไม่ได้รับสวัสดิการตามที่ควรได้รับ ทำให้สุดท้ายต้องออกจากงาน กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งที่เกิดจากการเอาเปรียบของนายจ้าง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเยียวยา 10 ข้อ อาทิ ขยายมาตรการชดเชยรายได้พื้นฐานให้กับประชาชนทุกคน ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ปรับปรุงขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิ์ได้รับเงินชดเชย กระจายรายได้ให้ผู้ค้าปลีกรายย่อยมากกว่าร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่ ยกเลิกหนี้กองทุน กยศ. และจะต้องอุดหนุนช่วยเหลือค่าเช่าสถานที่ที่ถูกสั่งงดกิจการจากมาตรการโควิด-19 โดยเฉพาะผับบาร์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่มาร่วมเรียกร้อง ยังขอให้ผ่อนผันแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ 240,000 คน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่จำเป็นต้องต่อวีซ่ารอบสอง อีกประมาณ 1.5 ล้านคน โดยผ่อนผันระยะเวลาการขอใบอนุญาตให้กับแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากมีปัญหาที่สถานพยาบาลหลายแห่งระงับการตรวจสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ทัน เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานที่มีอยู่กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย