กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจการปนเปื้อนอาหาร-บรรจุภัณฑ์กว่า 100 ตัวอย่าง ไม่พบเชื้อโควิด
(3 ก.พ. 2564) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากแพกุ้ง จ.สมุทรสาคร ทำให้ประชาชนเกิดกระแสความไม่มั่นใจในการบริโภคอาหารทะเล ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดห่วงโซ่การผลิตสัตว์น้ำ ต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและการประกอบอาชีพชาวประมงเป็นอย่างมาก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงตรวจวิเคราะห์ด้านอาหารของประเทศไทย จึงได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปนเปื้อนในอาหารและบรรจุภัณฑ์ นอกจากนั้นยังได้ดำเนินการสุ่มตรวจเฝ้าระวังคุณภาพความปลอดภัยอาหารทะเลมาอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานบูรณาการร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด่านอาหารนำเข้า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ด่านตรวจประมง กรมประมง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดปลาสหกรณ์ และบริษัทเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้การตรวจเฝ้าระวังมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
โดยได้มีการเก็บตัวอย่างอาหารและบรรจุภัณฑ์ เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทรายแดง ปลาซาบะ ปลาทู ปลาอินทรีย์ ปลาใบขนุน ปลาน้ำดอกไม้ หอย หมึก กุ้ง เป็นต้น สำหรับบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋อง กล่องกระดาษ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 – เดือนมกราคม 2564 จำนวน 117 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง โดยเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2563 สุ่มตรวจอาหารทะเลที่จำหน่ายในตลาดสดเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 80 ตัวอย่าง วันที่ 7 มกราคม 2564 ตรวจอาหารทะเลที่ตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม จำนวน 26 ตัวอย่าง วันที่ 11 มกราคม 2564 ตรวจสินค้าสัตว์น้ำในเรือด่านประมง จ.ระยอง จำนวน 3 ตัวอย่าง และล่าสุดวันที่ 21 มกราคม 2564 ตรวจอาหารทะเลและบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ กล่องกระดาษ กระป๋อง จำนวน 8 ตัวอย่าง
“จากการสุ่มตรวจอาหารทะเลที่จำหน่ายในประเทศ ไม่พบการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสามารถรับประทานทะเลสดและอาหารทะเลแช่แข็งได้ตามปกติและมีความปลอดภัย โดยนำมาปรุงให้สุก เพราะความร้อนสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ด้วยความร้อน 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป และถ้าความร้อนสูงขึ้น ก็จะใช้ระยะเวลาน้อยลง หากเป็นอาหารแช่แข็ง ควรล้างทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ สวมถุงมือเวลาประกอบอาหาร และที่สำคัญต้องล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสอาหารทะเล ทั้งนี้บริษัทเอกชนรายใดต้องการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร 0-2951-0000 ต่อ 99561, 99562 หรือคู่มือการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในอาหาร และบรรจุภัณฑ์ bqsf.dmsc.moph.go.th โดยในช่วงนี้กรมฯได้ลดค่าตรวจวิเคราะห์ 50% เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว