กรมการแพทย์ เตือน! ฝุ่น PM 2.5 เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพ พร้อมแนะวิธีรับมือ
(4 ก.พ. 2564) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าเกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก เพราะฝุ่นละออง PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้เป็นวันหรือเป็นอาทิตย์รวมทั้งกระจายได้ไปไกลถึง 100 ไมล์
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ การเผาป่า การเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็น ไม่มีกลิ่น และยังเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายจากการสูดดมทางโพรงจมูก หากสูดเป็นระยะเวลานานหรือในปริมาณที่มาก อาจส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง เป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือดได้
โดยนายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มลภาวะทางอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบด้านสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวมากมาย ทำให้กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังอาจเสียชีวิตได้หากไม่รู้จักป้องกันตนเอง โดยผู้ที่ได้รับฝุ่น PM 2.5 มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง และถ้าหากได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งอันตรายของฝุ่น PM 2.5 10 mcg/p3จะเพิ่มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น 0.38%* สมรรถภาพของปอดลดลงประมาณ 3.5 ml และการเจริญเติบโตของปอดลดลง 1.4 ml/ปี*# เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคปอด 6%* เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคมะเร็ง 8%* และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจ 4%* (*เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ทุก 10 ug/m3)
นอกจากนี้ หากผู้ที่ตั้งครรภ์สูดดมฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์อีกด้วย ดังนั้นเราควรป้องกันตนเอง ดังนี้
1. สวมหน้ากาก N95 หากไม่มีให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น ซึ่งสามารถกรองฝุ่นละอองได้บางส่วน
2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านเมื่ออากาศปิด ,ไม่มีลมพัดผ่าน
3. ปลูกต้นไม้ เช่น ต้นจั๋ง ต้นเดลี่ และต้นวาสนา เพื่อช่วยกรองอากาศและดูดสารพิษ
4. หมั่นดื่มน้ำสะอาด
5. ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อลดควันดำจากการเผาไม้เครื่องยนต์
6. อาบน้ำชำระร่างกายทันทีเมื่อออกไปทำธุระนอกบ้าน
7. ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน
8. หากพบอาการผิดปกติของร่างกายให้รีบมาพบแพทย์ทันที
นอกจากเราจะป้องกันตนเองแล้ว เราควรยุติพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพื่ออากาศที่บริสุทธิ์ไร้ฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้งทุกครั้งที่ออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 และช่วยลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคต่างๆที่ปนเปื้อนมาทางอากาศอีกด้วย