รัฐสภามีมติ 366 - 316 ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านซัด เหมือนจงใจเตะถ่วง
(9 ก.พ. 2564) ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติให้ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ว่า สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่ม ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่ ด้วยคะแนนเสียง 366 ต่อ 315 งดออกเสียง 15 หลังใช้เวลาอภิปรายด้วยความเข้มข้นนานกว่า 4 ชั่วโมง
โดยนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า วันนี้เราดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเสร็จแล้ว แต่กลับต้องพูดว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ ไม่เข้าใจทำไมเวลามีปัญหาหลายเรื่องเราจะต้องโยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตลอด เหตุใดคน 750 คน ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญเสมอ ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่รัฐสภาทำงานมา เห็นความพยายามที่จะยื้อเวลาและเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นระยะ ๆ แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นญัตติที่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะนี่คือการหาหนทางตัดทอนอำนาจของรัฐสภาและประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นความพยายามที่จะแช่แข็งประเทศไทยด้วยการทำให้รัฐธรรมนูญของ คสช. เป็นรัฐธรรมนูญฉบับนิรันดร โดยอ้างว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น เหมือนรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่ตัวเอง
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลหลายคนก็ไม่เห็นด้วย อย่างนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะสร้างความสุ่มเสี่ยงนำไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญได้ หากศาลรัฐธรรมนูญตีตกการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะกลายเป็นรัฐสภาเปิดทางให้องค์กรอื่นเข้ามาตัดหน้าขัดขวางการตัดสินใจของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญ นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงครั้งใหม่ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังยากลำบาก
โดยเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นด้วย คือ พรรคพลังประชารัฐทั้งหมดไม่มีแตกแถว รวมถึงฝากฝั่ง ส.ว. ส่วนใหญ่
ส่วนที่ลงมติไม่เห็นด้วย คือ ฝ่ายค้านทั้งหมด / พรรคภูมิใจไทย / พรรคประชาธิปัตย์ ยกเว้น นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปลงมติเห็นด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคชาติไทยพัฒนา
ส่วนสมาชิกที่งดออกเสียงทั้ง 15 เสียง แบ่งเป็น 3 ฝ่าย อาทิ พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 เสียง และที่เหลือเป็น ส.ว. อาทิ นายคำนูญ สิทธิสมาน และนายนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นต้น