บีทีเอส ชี้แจงความคืบหน้า การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม พร้อมเรียกร้องขอความเป็นธรรมและให้ดำเนินการตามกฎหมาย
(10 มี.ค. 2564) คณะผู้บริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำโดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายหลังส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. หยุดดำเนินการใด ๆ จนกว่าจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง - บีทีเอส ร้องนายกฯ สอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
โดยในวันนี้ นายสุรพงษ์ ได้กล่าวในการแถลงว่า บีทีเอส ไม่ต้องการแสดงออกในลักษณะของการโต้แย้งกับหน่วยงานของรัฐผ่านสื่อ แต่พยายามร้องขอความเป็นธรรมและดำเนินตามกระบวนการกฎหมาย แต่จนถึงขณะนี้พบว่ามีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้บีทีเอสเกิดความเสียหาย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงความจริงทั้งหมด สิ่งที่ดำเนินการมา และสิ่งที่กำลังดำเนินการต่อไปเพื่อให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง
ขณะที่ พ.ต.อ.สุชาติ ระบุว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เริ่มมีความผิดปกติของการดำเนินการในขั้นตอนที่อยู่ระหว่างการรอยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการนี้ ปรากฎว่ามีบริษัทเอกชนที่ร่วมซื้อซองมีหนังสือไปถึง ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการประมูล โดยอ้างเหตุผลถึงหลักเกณฑ์และความเสี่ยงสูงของการขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างขั้นสูงเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชนในด้านต่างๆ ต่อมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกซึ่งล้มล้างสิ่งที่หน่วยงานของรัฐทำมาหลายปี
การกระทำดังกล่าว ชี้ให้เห็นเจตนาและความคิดของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ทำให้ บริษัทฯ ต้องทำหนังสือร้องเรียนไปถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบตามกฎหมาย
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ยังกล่าวปิดท้ายด้วยว่า บีทีเอส เป็นบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยแห่งเดียวในกลุ่มขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับรางวัลจาก DJSI ให้เป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนในอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้มา 3 ปีซ้อนแล้ว และในปีนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยดัชนีชี้วัดกำหนดไว้ 3 ตัว ได้แก่ ด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านการดูแลช่วยเหลือสังคม และ ด้านธรรมาภิบาล
ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องความถูกต้องและชอบธรรม สิ่งสำคัญที่สุดคือ วันนี้ประเทศยังต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ หากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขาดธรรมาภิบาลเช่นนี้ จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้อย่างไร ถ้าเรื่องนี้ทุกภาคส่วนยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถือว่าเป็นการทำลายระบบของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 ที่บังคับใช้สำหรับโครงการเช่นนี้ ก่อให้เกิดการไม่บรรลุเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน อันเป็นนโยบายของรัฐบาลอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แค่เกิดกับบีทีเอส แต่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายในด้านการลงทุนหลายมิติของประเทศไทย