ครม. เห็นชอบเสนอ "ต้มยำกุ้ง" ขึ้นทะเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
(23 มี.ค. 2564) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เสนอ "ต้มยำกุ้ง" ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ พร้อมเห็นชอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นผู้ลงนามในเอกสารที่จะเสนอต่อยูเนสโกในฐานะตัวแทนประเทศไทย
สำหรับสาระสำคัญของการนำเสนอต้มยำกุ้ง ภายใต้ชื่อ Tomyum Kung ต่อยูเนสโกมีดังนี้คือ ด้านคุณค่าและความสำคัญ ต้มยำกุ้งเป็นอาหารที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางของไทย ที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารผ่านการสังเกตและเรียนรู้จากธรรมชาติ โดยนำกุ้งที่มีมากมายในท้องถิ่นมาต้มในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรทั้งข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก และมะนาว ซึ่งนิยมปลูกไว้กินเองในครอบครัว ต้มยำกุ้งจึงสะท้อนถึงความเรียบง่ายและวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ พึ่งพาตนเองและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ต้มยำกุ้งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปีค.ศ. 2003 ดังนี้คือ
1.ด้านธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ โดยแต่เดิมเป็นการสืบทอดในครัวเรือนจากรุ่นสู่รุ่นแบบปากเปล่า ไม่มีประวัติหรือบันทึกตำรับเป็นลายลักษณ์อักษรที่ตายตัว นอกจากนี้ยังเป็นการเรียกชื่ออาหารที่เป็นคำโดดหรือคำมูล 3 คำ คือ ต้ม ยำ และกุ้ง มาประสมกันให้เกิดเป็นความหมายใหม่
2.ด้านการปฏิบัติทางสังคมและพิธีกรรม เนื่องจากต้มยำกุ้งเป็นอาหารที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนไทยพุทธที่เป็นชาวนาชาวสวนในลุ่มแม่น้ำภาคกลางที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมักจะงดเว้นการฆ่าสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร โดยเฉพาะช่วงวันพระหรือวันเข้าพรรษา ดังนั้นกุ้งแม่น้ำ ซึ่งมีอย่างอุดมสมบูรณ์และลอยขึ้นมาให้จับง่ายๆในบางฤดูกาล จึงเหมาะใช้ทำอาหาร นอกจากนี้ยังสะท้อนเรื่องวัฒนธรรมการบริโภคของคนไทยโดยมีข้าว เป็นอาหารหลัก รับประทานร่วมกับ กับข้าว โดยคนในครอบครัวจะล้อมวงรับประทานอาหารพร้อมหน้ากัน กินข้าวหม้อเดียวกัน กินแกงหม้อเดียวกัน ซึ่งแสดงถึงความผูกพันใกล้ชิดกันในครอบครัว
และ3.ด้านความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ซึ่งต้มยำกุ้งถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะมีไขมันต่ำ และมีสรรพคุณจากเครื่องสมุนไพรช่วยบำรุงร่างกาย ปรับธาตุให้สมดุลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลปลายฝนต้นหนาว จะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการหวัดได้ และช่วงเวลาดังกล่าว ยังเป็นช่วงฤดูที่กุ้งมีชุกชุมในธรรมชาติ จึงสะท้อนถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนเรื่องการรับประทานอาหารตามฤดูกาล และเรื่องวงจรชีวิตของกุ้งแม่น้ำด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายูเนสโกได้ประกาศให้โขนและนวดไทยขึ้นทะเบียนเป็นรายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ โดยขณะนี้โนราและสงกรานต์ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของยูเนสโกสำหรับการเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ