เสียงประชาชนเรียกร้องวัคซีนโมเดอร์นา ไฟเซอร์ 

แพทย์หลายฝ่ายแนะฉีดซิโนแวคควรเพิ่มเข็ม 3 เพื่อรับมือโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) และเบตา (สายพันธุ์แอฟริกา) ที่เริ่มจะระบาด และคาดว่าจะแพร่ระบาดทั่วโลกภายใน 4 เดือน แซงหน้าสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ)

หนึ่งในนั้น คือ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาว่า

"หากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มเดียวภูมิคุ้มกันไม่สูงพอ ฉะนั้นต้องใช้ภูมิคุ้มกันที่สูงพอถึงป้องกันโรคได้

เมื่อศึกษาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ของแอสตร้าเซนเนก้ากับซิโนฟาร์ม พบว่า ภูมิคุ้มกันยังต่ำ จำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 3 ถึงจะได้ภูมิคุ้มกันระดับน้อง ๆ ไฟเซอร์ และเข็มที่ 3 หากฉีดในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะกระตุ้นภูมิได้ถึง 10 เท่า

ตอนนี้เรากำลังศึกษาให้เร็วที่สุด เรื่องการสลับวัคซีนเชื้อตายกับ mRNA ประเทศในยุโรปทำกันเยอะ ส่วนของไทยที่ผ่านมาให้ซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า ภูมิสูงขึ้นพอสมควร และคาดว่าการศึกษาข้อมูลเรื่องเข็มที่ 3 น่าจะมาทันกับการแพร่ระบาดสายพันธุ์นี้ ส่วนเข็มที่ 3 จะฉีดตอนไหนต้องรอผลการศึกษาอีกครั้ง เช่น ควรจะให้ 3 เดือนหรือ 6 เดือนหลังจากเข็มที่ 2 หรือจะมีการใช้วัคซีนตัวเดิมหรือข้ามวัคซีนก็เป็นได้"

ขณะที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึง การเตรียมวัคซีนเข็มสาม ที่ไม่ใช่ยี่ห้อเดิม เนื่องด้วยปัจจัยด้านภูมิคุ้มกันจากวัคซีนบางยี่ห้อ ไม่สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะระบาดมากขึ้น


ด้วยเหตุนี้ โลกโซเชียลจึงต่างตั้งคำถามถึงราคาและประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคว่า แพงกว่ายี่ห้ออื่นหรือไม่ และหากต้องฉีดถึง 3 เข็ม ทำไมจึงไม่เปลี่ยน จะยังต้องฉีดซิโนแวคอยู่อีกหรือ?? 

เปิดราคาวัคซีนชนิดต่างๆ 

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)  โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า พร้อมเปิดเอกสารหลักฐานการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค 

"ใครที่บอก Sinovac แพงสุด ไม่น่าจะจริงแล้วนะครับ ผมเข้าใจว่า ราคาวัคซีน ไม่ได้ตายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเรื่องของค่าขนส่ง และอัตราแลกเปลี่ยนเงินด้วย จากเอกสารในการประชุมสภาเรื่องงบประมาณ เฉลี่ยแล้ว

  • ราคา Sinovac จะอยู่ที่ 625 บาท / โดส (รวมทุกอย่าง)
  • ส่วนซิโนฟาร์ม เมื่อวานทางราชวิทยาลัยฯ เคาะออกมาอยู่ที่ 888 บาท / โดส
  • โมเดอร์นา ที่น่าจะเป็นรายต่อไปที่เป็นวัคซีนทางเลือก สมาคม รพ.เอกชน เคาะแล้วที่ 1,900 บาท / โดส
  • ส่วน AZ นั้น ไม่ต้องห่วงครับ ราคาถูกที่สุดอยู่แล้ว เพราะเป็นหลักการของทางบริษัทที่ขายราคาเท่าทุนทั่วโลก ของไทยเฉลี่ยรวมทุกอย่างแล้วก็อยู่ที่ 203 บาทครับ

 

ส่วน รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ กรณีการจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาลไทยระบุ 

ศบค. จัดหา Sinovac แล้ว 19.5+สั่งเพิ่ม 28 = 47.5 ล้านโดส (จากFB คุณสฤณี) รัฐบาลต้องเปิดเผยราคาที่ซื้อ Sinovac (ภาพจาก the Matter) และอธิบายเหตุผลว่า ทำไมจึงซื้อจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ราคาแพง และผลวิจัย+ข้อเท็จจริงพบว่ากันการติดเชื้อ และกันการแพร่เชื้อได้ต่ำสุด คนไทยเข้าใจถ้าใช้เหตุผล

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับวัคซีนซิโนแวคนั้น ราคาต่อโดสในล็อตแรก โดสละ 554 บาท และในล็อตที่ 2 ราคาต่อโดส โดสละ 580 บาท

สำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ราคาต่อโดสในล็อตแรกนั้น 159 บาท และล็อต 2 นั้นพบว่ามีราคา 162 บาทต่อโดส ซึ่งพบว่าราคาต่อโดสของซิโนแวค แพงถึง 5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า

 

 

 

ด้าน นายอนุทิน ก็ยอมรับว่าซื้อ ซิโนแวคในราคาที่สูงกว่าแอสตร้าเซเนก้าจริง

เพราะแอสตร้าเซเนก้าผลิตในประเทศ แต่ต้องซื้อซิโนแวคในราคาที่แพงกว่าเพราะต้องการด่วน

"อนุทิน ชาญวีรกูล" ออกมายอมรับเองว่าซิโนแวคแพงกว่าแอสตร้าเซเนก้า เพราะที่ไทยมีโรงงานผลิตเองแต่กำลังการผลิตก็ยังไม่เพียงพอจากที่วาง แอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนแห่งชาติตัวแรก กลับกลายเป็น ซิโนแวค ที่สั่งซื้อมาจากประเทศจีน ซ้ำแพทย์หลายคนบอกว่า ซิโนแวค ต้องฉีด 3 เข็ม เพราะมีประสิทธิภาพดีกว่า ป้องกันทั้งโควิดสายพันธุ์ อินเดีย และแอฟริกา

ส่วนกรณีวัคซีนไฟเซอร์  20 ล้านโดส ถูกเลื่อนเข้าประเทศไทยจากเดิมตกลงว่าจะส่งในไตรมาส 3 (มิถุนายน) แต่เลื่อนไปไตรมาส 4 (กันยายน) เหตุเพราะไฟเซอร์เป็นที่ต้องการของทั่วโลก เราทำอะไรไม่ได้ ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน พร้อมยืนยันวัคซีนทุกชนิดที่ประเทศไทยจัดมามีประสิทธิภาพสูง อย่างซิโนแวคเราทำการศึกษาเองที่ภูเก็ต พบภูมิคุ้มกันขึ้นมาถึง 83% เป็นการศึกษาในสถานที่จริง ไม่มีการปรุงแต่ง  

 

แล้วประชนชาวไทยเหลือทางเลือกใดบ้าง??? 

เมื่อ วัคซีนชิโนฟาร์มของ ที่นำเข้าโดย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ถยอยเข้าก่อนแล้ว 1 ล้านโดส ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกคน ให้สามารถวอร์กอินเข้าไปฉีดเองได้ 

 

ส่องไทม์ไลน์วัคซีนโมเดอร์นา 

  • ลอตแรก เดือน ต.ค. 2564 จำนวน 4 ล้านโดส
  • ลอต 2 ภายในปี 2564 จำนวน 3 ล้านโดส
  • ลอต 3 ในต้นปี 2565 จำนวน 3 ล้าน โดส 

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ต้นทุนค่าวัคซีนราว 1,200 บาทต่อเข็ม รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าภาษี ค่าจัดเก็บและกระจายวัคซีนที่ต้องควบคุมอุณหภูมิติดลบ 20 องศา 

ราคาเข็มละ 1,900 บาท หรือครบ 2 โดส จำนวน 2 เข็ม ราคา 3,800 บาท

เป็นราคารวมค่าวัคซีนและค่าบริการของโรงพยาบาล ควบค่าประกันวัคซีนโควิด-19 โดยทุก รพ.จะใช้อัตราเดียวกันทั้งหมด

โดยโรงพยาบาลถือว่าไม่ได้เอากำไรเลย และยังเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนและมีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายเอง โดยการสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นา จะซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) 10 ล้านโดส

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หากวัคซีนโมเดอร์นาจะเข้ามาในเดือนตุลาคมช่วงเวลานั้นจะรับมือทันหรือไม่ และขณะที่กลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์ เข้าถึงได้ แล้วกลุ่มคนที่ไม่มีกำลังทรัพย์? ทำอย่างไรได้บ้าง  

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นับวันจะมีหลากหลายสายพันธุ์ กับการนับถอยหลังเปิดประเทศภายใน 120 วัน (ประกาศเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.64) และจำนวนผู้ป่วยที่สวนทางกับเตียงที่เหลือ นี่ยังไม่รวมถึงวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งไม่รู้ว่าต้องฉีดหรือไม่ จึงไม่แปลกเลยที่ประชาชนจะตั้งคำถามถึงทางเลือกในจัดการวัคซีน...เสียเงินเพิ่มอีกหน่อย เจรจาซื้อของดีเพื่อประชาชนไปเลยไม่ได้เลยหรือ??