เกษตรกรต้องรู้! 3 วิธี ป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือ ควบคุมพาหะนำโรค ใช้สารเคมีนอกตัวสัตว์ -กับตัวสัตว์ ย้ำพบป่วยต้องแยกออกจากฝูง
แม้ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จะกระจายวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือ ไปยังพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศแล้ว แต่ยังพบว่ายังมีข่าวปรากฎตามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการรักษาโรคนี้ โดยการใช้สารเคมี สมุนไพร และยาประเภทต่าง ๆ โดยปราศจากหลักฐานทางวิชาการ
ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย จึงออกแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและรักษาโรคลัมปี สกิน เบื้องต้นสำหรับเกษตรกร ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันต้องอาศัย 3 องค์ประกอบหลัก นั่นคือ
1.การควบคุมพาหะนำโรค จำพวกแมลงดูดเลือด อาทิ แมลงวันคอก เหลือบ ยุง และเห็บบางชนิด วิธีการ คือ การจัดการมูลสัตว์และขอเสีย เพื่อไม่ให้แมลงวันวางไข่ และควรกางมุ้งให้สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันแมลง โดยเน้นช่วงเวลาที่มีแมลงวันชุกชุม คือหลังฝนตก ซึ่งมีความชื้นสูง หรือใช้กับดักแมลงภายในฟาร์ม เช่น เครื่องช็อตไฟฟ้า กาวดักแมลง และจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและยับยั้งการวางไข่ของยุง รวมถึงหมุนเวียนแปลงหญ้าและดูแลสภาพแวดล้อมในคอกพักให้สะอาด เพื่อตัดวงจรเห็บ
2.การใช้สารเคมีนอกตัวสัตว์ ได้แก่ การฉีดพ่นภายในฟาร์มหรือฉีดพ่นที่แหล่งเพาะพันธุ์แมลง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทไดฟลูเบนซูรอน ไตรดลูมูรอน ไซโรมาซีน อะซาเมไทฟอส อิโตเฟนพรอกซ์ ดี-ฟีโนทริน อัลฟา-ไซเปอร์เมทริน เดลตาเมทริน และอมิทราช เป็นต้น โดยเน้นย้ำว่า จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมปศุสัตว์เท่านั้น อ่านฉลากแนะนำการใช้ ข้อควรระวัง และปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย
3.การใช้สารเคมีกับตัวสัตว์ ได้แก่ การใช้บ่อจุ่มตัวสัตว์ โรยผงฝุ่นแป้งบนตัวสัตว์ การติดเบอร์หูผสมสารเคมีกำจัดแมลง การราดหลัง การฉีดพ่นบนตัวสัตว์ การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และจะต้องใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ตามคำแนะนำเท่านั้น ที่สำคัญ ไม่ควรใช้สารเคมีกับโคนมในขณะรีดนมและในพื้นที่โรงรีดนม
ทั้งนี้ กรณีที่พบสัตว์ป่วย จะต้องแยกออกจากฝูง เพื่อลดโอกาสติดเชื้อโรคไปยังตัวอื่น แต่ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เด็ดขาด และควรให้มีอากาศถ่ายเท เช็ดตัวสัตว์ด้วยน้ำวันละ 2-3 ครั้ง และมีน้ำสะอาดให้สัตว์กินเพียงพอ เพื่อลดไข้ ส่วนรอยโรคตุ่มหนอง ให้ใช้ยาทาภายนอก และยากำจัดแมลงเพื่อป้องกันแมลงวันมาวางไข่ และงดส่งนมและเนื้อจากสัตว์ป่วยที่อยู่ในระยะการตกค้างของยาและสารเคมี