'พิธา' ตั้งคำถามกรมโยธาฯ อัดงบฯ สร้างเขื่อนกันคลื่นเซาะชายฝั่ง เพิ่มกราดรูด 500% ทะลุ 1 พันล. หลังยกเลิกอีไอเอ จี้ทบทวนโครงการฯ ในหลายพื้นที่ หลังประเมินไม่เเก้ตรงจุด
 
 
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงการตั้งคำถามการใช้งบประมาณในโครงการด้านการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในที่ประชุม กมธ.งบประมาณ 65 วันนี้ ผมได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย ในกรณีของกรมโยธาธิการและผังเมืองถึงแนวคิดและความจำเป็นในโครงการด้านการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้ง ๆ ที่ใช้งบประมาณจำนวนเยอะมาก กว่า 1,080 ล้านบาท แต่นอกจากจะไม่ได้แก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้สร้างปัญหาใหม่ด้วย
 
มีคำถามว่าการสร้างเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันแน่ แม้ว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้นมีอยู่จริง และเวลาผมไปในพื้นที่ก็ได้คุยกับประชาชนและได้พบหน้างานจริงก็มองเห็นปัญหา ทีนี้ก็มีแนวคิดกันว่าการการสร้างเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งเป็นการต่อสู้กับธรรมชาติ แล้วก็มีความคิดในมิติอื่น ๆ ว่าเราไปแก้ไขด้วยวิธีสร้างเขื่อนแบบนี้ ก็ไปสร้างปัญหาในอีกมิติอื่น ๆ ด้วย และยิ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่มียกเลิกการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ในเดือน ธ.ค. ปี 2556 งบประมาณด้านนี้ก็มีการเพิ่มขึ้นในทุกปีอย่างมีนัยยะสำคัญขึ้นเป็น 500% โดยปี 2557 งบประมาณ 170 ล้านบาท และปีปัจจุบันประมาณ 1,080 ล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าการสร้างเขื่อนกัดเซาะแบบนี้ได้แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันแน่
 
วิธีจะตอบปัญหาดังกล่าวนี้ได้ จึงเป็นต้องยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีโครงการสร้างเขื่อนฯ จริงมาเปิดเผยให้เห็น คือในพื้นที่ ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งแบ่งเป็น 4 พื้นที่ 1.ชุมชนบ้านเพ ซึ่งเป็นชุมชนประมง ที่อยู่อาศัย ตลาดและท่าเรือ 2.หาดสวนสน ซึ่งเป็นหาดท่องเที่ยว 3.หาดสวนสน ซึ่งเป็นที่จอดเรือ และ 4.หาดดวงตะวัน ซึ่งเป็นรีสอร์ทและหาดท่องเที่ยว
 
 
“กรณีหาดดวงตะวันนั้น ได้มีการจะสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์ความยาว 786 เมตร วงเงินงบประมาณรวม 78.6 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าได้ใช้งบประมาณสร้างเขื่อนคิดเป็นกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท แต่มีข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่เป็นงบประมาณสร้างถนนใหม่เลียบทะเล โดยกรมทางหลวงชนบทปี 2565 พบว่าใช้งบประมาณสร้างถนนกิโลเมตรละ 8.4 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าเรากำลังขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่ คือสร้างเขื่อนกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท เพื่อมาปกป้องถนนที่ใช้งบประมาณสร้างประมาณ 8.4 ล้านบาท” นายพิธา ระบุ
 
 
ในกรณีของหาดดวงตะวันนั้น เนื่องจากมีการทำปากน้ำ เลยทำให้สมดุลของทรายและของน้ำเปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหาทรายส่วนหนึ่งมีจำนวนเยอะ ทรายอีกฝั่งหนึ่งน้อย โดยวิธีการแก้ของกรมโยธาฯ คือการถมหิน และเมื่อถมหินก็เกิดการกัดเซาะ จึงต้องตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดยิ่งแก้ แต่ปัญหากลับยิ่งเพิ่ม แทนที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เหตุใดจึงไปแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุของปลายเหตุ โดยการไปสร้างเขื่อนป้องกัน เพราะถ้าหากแก้ที่ต้นเหตุ คงต้องไปแก้โดยการย้ายทรายจากฝั่งที่เกินมาถมฝั่งที่ขาด เนื่องจากระหว่างทรายและหินมีความสามารถในการดูดซับคลื่นทะเลไม่เท่ากัน
 
ดังนั้นอาจจะไม่ต้องถมหินตั้งแต่แรกหากมีการย้ายทราย และหากไม่ถมหิน ก็จะไม่นำไปสู่การกัดเซาะชายฝั่งและกัดเซาะถนน และก็ไม่ต้องสร้างเขื่อนมาปกป้องถนน หาดดวงตะวันที่การกัดเซาะอย่างรุนแรงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังการสร้างกองหิน หรือแม้กระทั่งในกรณีของพื้นที่ชุมชนบ้านเพ มีการสร้างเขื่อนกั้นทะเลตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเมื่อเอาของแข็งไปใส่กลางทะเลก็นำไปสู่ปัญหาที่ตามมา ความเร็วของคลื่น ความลึกของทะเลก็เปลี่ยนไป การเข้าออกของน้ำทะเลก็เปลี่ยนไป ทำให้น้ำอ้อมและพัดขยะไปบริเวณชุมชนบ้านเพ ตรงนั้นเลยกลายเป็นพื้นที่น้ำเน่าเสียตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
 
แล้วก็ไม่มีการคิดรอบด้านพอ เอางบประมาณไปจัดการให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้การนำเขื่อนไปกั้นทะเล เป็นการใช้วิธีโครงสร้างแข็ง ที่อาจจะช่วยคนกลุ่มหนึ่งคือป้องกันท่าเรือได้ แต่สร้างปัญหาเพิ่มให้กับประชาชน ประมงพื้นบ้าน ทำให้มีปัญหาเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องของสิทธิประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้รับผลกระทบมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
 
ดังนั้นในประเด็นการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
 
ประการแรก ผมขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทบทวนโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล หมู่ที่ 3 หาดดวงตะวัน ต.แกลง อ.เมืองระยอง ที่เป็นงบผูกพันปี 64 แต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ซึ่งโครงการนี้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นชัดเจน
 
ประการที่ 2 เป็นกลุ่มโครงการที่จะขอให้ทางกรมฯ ชะลอไปก่อน เนื่องจากตั้งงบประมาณก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน คือโครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบ้านผาแดง หาดทรายรี-ชุมพร งบประมาณทั้งโครงการ 42.7 ล้านบาท โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลชุมชนบางกะไชย แหลมสิงห์-จันทบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 88 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดดงตาล สัตหีบ-ชลบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 48 ล้านบาท
 
ประการที่ 3 โครงการที่จำเป็นต้องขอรายละเอียดเอกสารเพิ่มเติมคือโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ผูกพันใหม่ในงบปี 65 ทั้ง 6 โครงการ และโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ภาระผูกพัน 41 โครงการ
 
ผมจำเป็นต้องขอรายละเอียดเพิ่มเติมให้ทางหน่วยงานชี้แจง เพราะว่าต้องการเห็นว่า ในเอกสารมีการแยกแยะแต่ละพื้นที่แต่ละโครงการหรือไม่ว่าเป็นการกัดเซาะแบบชั่วคราวหรือเป็นการกัดเซาะแบบชั่วโคตร โดยการกัดเซาะแบบชั่วคราวนั้น เป็นการกัดเซาะในบางฤดูกาลเท่านั้น แต่การกัดเซาะแบบชั่วโคตร อาจเกิดจากปัจจัยด้านโลกร้อน เกิดจากเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดการกัดเซาะถาวร หากแยกแยะว่าเป็นการกัดเซาะแบบไหน ก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพราะวิธีการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาก็แตกต่างกันออกไป
 
ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 รายงานเพิ่มเติมว่า ไม่เฉพาะพื้นที่หาดดวงตะวัน ต.เเกลง เท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบจากการทำโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งฯ เเต่ในพื้นที่ หมู่ 6 ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฏร์ธานี ยังเกิดปัญหาการคัดค้านการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันด้วย