"Jitasa.care" แผนที่ข้อมูลสถานการณ์โควิด รายงานจุดขอความช่วยเหลือ-จุดพักคอย-ตรวจโควิด-ฉีดวัคซีน

 

กลายเป็นอีกเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด และถูกเอ่ยถึงมากขึ้น หลังเพจ หมอแล็บแพนด้า โพสต์ภาพ จุดที่มีการขอความช่วยเหลือจากผู้ติดเชื้อ โดยเป็นจุดที่ปรากฏในเว็บไซต์ Jitasa.care ซึ่งเป็น Digital Map Platform ของโครงการจิตอาสาดูแลไทย มี 'ปิยพรรณ หันนาคินทร์' เป็นผู้ดูแล โดยต่อยอดมาจากโครงการของกลุ่ม ThaiFightCOVID ซึ่งทำแผนที่ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาด

เว็บไซต์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผนที่แสดงข้อมูลจำเป็นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยที่มุมบนด้านขวา จะมีตัวเลือกแสดงจุดบนแผนที่ประกอบด้วย วัดฌาปนกิจโควิด, จุดพักคอย, รพ.สนาม, โรงพยาบาล, จุดตรวจโควิด, จุดฉีดวัคซีน และจุดขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือ SOS จากนั้นจะมีข้อมูลต่าง ๆ ปรากฏอยู่บนแผนที่พร้อมแสดงสถานะว่าง / ไม่ว่าง จำนวนการฉีดวัคซีนต่อวัน จำนวนการรับบริการตรวจหาเชื้อต่อวัน เป็นต้นเว็บไซต์ดังกล่าวยังมีการเปิดรับสมัครจิตอาสา โดยลงทะเบียนด้วยเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอรหัส OTP เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปหรือผู้ติดเชื้อที่ขอความช่วยเหลือ

 

 

ขณะที่ เฟซบุ๊ก Jitasa.Care เผยแพร่ข้อความระบุว่า การจัดตั้งและทำแผนที่ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มวิศวกรจาก GISTDA และเพื่อน ๆ เข้ามาช่วยกันพัฒนา Digital Map Platform โดยเริ่มจากหา location และ เบอร์ติดต่อเพื่อแจ้งข้อมูลว่า วัดไหนบ้างที่รับเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด วัดไหน ว่าง และ ไม่ว่าง จากนั้นได้เชิญ โครงการ/มูลนิธิ ที่สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตร เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และมูลนิธิร่วมกตัญญู เข้ามาให้ข้อมูลและมาเป็นอาสาที่จะส่งร่างไปสวรรค์, มูลนิธิธรรมดี มาร่วมประชาสัมพันธ์, กลุ่มหมออาสา ที่มีเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ที่สามารถตอบปัญหาสุขภาพ มี LineOA และ OpenChat รวมถึงระบบการจัดการอบรมจิตอาสาที่ดี, กลุ่มไทยรอด เน้นเรื่อง Telemedicine และ การทำ HomeCare มีข้อมูลที่ต่อกับกรมการแพทย์ ที่จะมีผลตรวจ COVID ของทุก Lab

นอกจากนั้น ยังต่อยอดด้วยกลุ่ม Hacktest ที่มาสร้างระบบในการตรวจสอบโควิดแบบปูพรม ซึ่งจะทำที่บ้านฉาง จ. ระยอง เป็นที่แรก และขยายไปทั่ว EEC โดยประสานงานกับ สปสช. เพื่อวางเป้าตรวจ 64 ล้านคน ใน 14 วัน, ศบค.ทบ กำลังเป็นกลุ่มที่ประสานงานอยู่เพื่อให้มาใช้ platform ในการรับเรื่อง ประสานงาน แทนที่จะเป็นการคอยรับโทรศัพท์

โดยวันที่ 26-27 ก.ค.2564 จะเริ่มทำการอบรม แนะนำในการใช้ระบบให้กับจิตอาสากลุ่มต่าง ๆ แบ่งเป็นอาสาข้อมูล update สถานะของสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงปักหมุดสถานที่ที่เกี่ยวข้อง, อาสาติดต่อ ประสานงานระหว่างผู้ต้องการความช่วยเหลือและทีมงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ, อาสาหน้างานพาไป รับส่งผู้ป่วย ร่างผู้เสียชีวิต สิ่งของอื่น ๆ และอาสาหน้างานสาธารณะ ตรวจสอบหน้างาน ตรวจสอบสิ่งของ หรือ ประสานงานอื่นใดที่หน้างาน โดยจะเริ่มใช้งานจริงตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป