"ดร.พีรภัทร ฝอยทอง" ทนายความ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ใช้ชื่อ "ปังชา" ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ชี้ เคสนี้ต่างจาก "โออิชิ" และ "กระทิงแดง"

31 ส.ค. 66 จากกรณีดราม่าสนั่น “ปังชา” จดลิขสิทธิ์ ยื่นโนติสเรียก 102 ล้านบาท ร้านชื่อเหมือน (อ่านข่าว : สรุปดราม่า จดทะเบียน "ปังชา" และฟ้องร้านชื่อเหมือน 102 ล้าน) ล่าสุด “ดร.พีรภัทร ฝอยทอง” ทนายความที่ได้ให้ข้อมูลทางกฎหมายเกี่ยวกับเคสดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ ได้ออกมาอธิบายย้ำๆ ชัดๆ อีกครั้ง ผ่านเฟซบุ๊ก Dr. Pete Peerapat ว่า ทำไมร้านอื่นๆ สามารถใช้ชื่อ “ปังชา” ได้ และต่างจากเคสของ “โออิชิ” กับ “กระทิงแดง” อย่างไร ดังต่อไปนี้

1. ในการจัดทะเบียน ไม่มีคำว่า “ปังชา”

“ดร.พีรภัทร ฝอยทอง” ระบุว่า ลองดูทะเบียนเครื่องหมายการค้า ที่ทางร้านโพสต์ไว้ ซึ่งดูแล้วตรงกับเลขที่สำนักงานทนายส่งถึงร้านที่เชียงราย (ทะเบียนเลขที่ 231112742)

คำหรือข้อความที่จดเป็นเครื่องหมาย มีเพียง The Best Thai Tea ;G ;Pang Cha ไม่มีคำว่า “ปังชา” (ภาษาไทย) แปลว่า คำว่า “ปังชา” ใคร ๆ ก็ยังใช้ได้นะครับ ที่ออกหนังสือ Notice ไปนั้นไม่ถูกต้อง

ส่วน “Pang Cha” ภาษาอังกฤษ สิ่งที่กรมให้ คือ ภาพวงรีสีดำด้านล่าง แล้วมีคำว่า Pang Cha อยู่ด้านใน
เวลาการใช้เครื่องหมายการค้า/บริการ คุณต้องใช้อย่างเครื่องหมาย คือใช้ทั้งภาพ จะดึงคำออกมา แล้วบอกว่า “Pang Cha” (ภาษาอังกฤษ) เป็นคำที่ร้านคุณใช้ได้คนเดียวนั้น ไม่ถูกต้อง

สรุปคำว่า “ปังชา” หรือ “Pang Cha” คนอื่นยังใช้ได้ สิ่งที่หัามคือ การใช้เครื่องหมายแล้วมีคำว่า Pang Cha แบบในรูปของคุณ

2. เคส “ปังชา” ต่างจาก “โออิชิ” และ “กระทิงแดง” อย่างไร

“ดร.พีรภัทร ฝอยทอง” ระบุเพิ่มเติมว่า ส่วนเรื่องการอ้างแบรนด์ “โออิชิ” หรือ “กระทิงแดง” ว่าเป็นคำสามัญ ก็จดได้เช่นกันนั้น ก็คนละเรื่องอีกครับ สองแบรนด์นั้นที่จดได้ เพราะ เป็นการใช้อย่างเครื่องหมาย จนเป็นที่แพร่หลาย ใครๆ ก็รู้จัก (Well known marks)

ส่วนคำว่า “ปังชา” หรือ “Pang Cha” เป็นเพียงเมนู หรือ รายการขนมหวานเท่านั้น คนไม่ได้รู้จักในตัวของเครื่องหมาย หรือ โลโก้แบรนด์ “ปังชา” หรือ “Pang Cha” เลย

สรุป สิ่งที่ร้านคุณจดทะเบียน คือ เครื่องหมายการค้า/บริการ ตามรูป เวลาจะใช้ ก็ใช้ตามรูปเท่านั้น
ส่วนคำว่า “ปังชา” จะภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ “Pang Cha” ไม่ใช่ของร้านคุณแต่เพียงผู้เดียว ใครจะเขียนเมนูในร้านว่า “ปังชา” หรือ ตั้งชื่อร้านว่า “ปังชา” ก็ไม่ได้ละเมิดเครื่องหมายการค้าคุณแต่อย่างใดครับ

ที่มา FB : Dr. Pete Peerapat